พระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
ต้นทศวรรษที่ ๒ แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัฐบาลได้กำหนดแนวทางพัฒนาประเทศด้วยการประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติต่อเนื่องกันหลายฉบับ
เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๔ เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าการใช้แผนพัฒนาฯ ในช่วงแรกๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเติบโตอย่างรวดเร็วก็ตาม
ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะพึ่งพิงเทคโนโลยี เงินทุน และพลังงานจากต่างประเทศ
ก่อให้เกิดภาวะความเสี่ยงสูงต่อการผันผวนจากปัจจัยภายนอกซึ่งมีผลกระทบถึง ประชาชนระดับล่างอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดความไม่มั่นคงจึงตามมาด้วยปัญหาสังคม นานัปการที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงเกือบ
๕ ทศวรรษที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งทางวัตถุและวัดความสำเร็จจากตัวเลขรายได้เฉลี่ย
ต่อหัวของประชากร ผลจากแผนพัฒนาฯ เป็นที่ประจักษ์กันดี ในระยะเวลาต่อมาว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
ขาดการประสานกันอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยที่แฝงอยู่ในการพัฒนาดัง
กล่าว ทรงชี้ให้เห็นว่าควรเริ่มต้นที่การพัฒนา “คน” ให้มีความพอมีพอกินพอใช้ก่อนเนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาทุกสิ่ง
โดยเฉพาะ ผลประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย
พระราชหฤทัย ตลอดจนพระปรีชาสามารถพัฒนาคนไทยด้วยการสร้างความพร้อมทั้งร่างกาย
ความคิด และจิตใจ และเมื่อมีพื้นฐานมั่นคงแล้ว จึงค่อยตามมาด้วยการสร้างความเจริญและฐานทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น
นับตั้งแต่พุทธศักราช
๒๕๑๗ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจ
พอเพียง หรือแนวทางการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติให้แก่ประชาชน นั่นคือ การเดินทาง สายกลางที่มีความพอเหมาะพอดี
รู้จักประมาณตนมีเหตุผล พึ่งตนเอง และไม่ประมาท ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบ
และคุณธรรม ในการวางแผนตัดสินใจและลงมือดำเนินการใดๆ อันเป็นแนววิธีการ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับครอบครัว
ชุมชนและระดับประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความยากจน ทั้งนี้ ทรงทำการทดลองปฏิบัติในพื้นที่เขตชนบทด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต่างๆ มากมายและขยายผลมาอย่างต่อเนื่อง และได้กลายเป็นฐานรองรับเป็นอย่างดีเมื่อประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตหลายด้านใน
เวลาต่อมา
"...ทั้งนี้ คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา
จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่
แต่เราพออยู่พอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐานปณิธาน
จุดมุ่งหมายในแง่นี้ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่พออยู่พอกิน ไม่ใช่รุ่งเรืองอย่างยอด
แต่ว่าการพออยู่พอกินมีความสงบนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้ารักษาความพออยู่พอกินได้
เราจะยอดยิ่งยวด ..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคม องค์การเกี่ยวกับศาสนา ครู นักเรียนโรงเรียนต่างๆ
นักศึกษามหาวิทยาลัย ในโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗
ในเบื้องต้น
แนวพระราชดำริดังกล่าวมีความก้าวล้ำเกินกว่าสถานการณ์ในขณะนั้น ประเทศไทยยังคงพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสืบต่อมา
อีกหลายฉบับ เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัว ในอัตราสูงและต่อเนื่อง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นการณ์ไกลและมีพระราชดำรัสเตือนผู้
บริหารระดับสูงและประชาชนมิให้ประมาท หลงไปกับอัตราตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเวลานั้น
โดยเฉพาะความพยายามที่จะเป็น “เสือตัวที่ ๕” หรือมหาอำนาจทางการค้าแห่งเอเชีย
ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสความว่า
"...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์
ในทางดีที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทยเรานี่ก้าวหน้าดี การเงิน
การอุตสาหกรรม การค้าดี มีกำไร. อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไป...มีทฤษฎีว่า
ถ้ามีเงินมากๆ มีการกู้มาลงทุนมากๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วประเทศก็เจริญ
มีหวังเป็นมหาอำนาจ. แต่ก็ต้องเตือนเขาว่า จริง ตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชน
ก็จะไม่มีทาง..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ
ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตวันที่
๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖
อย่างไรก็ดี การที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมิได้มาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง
กอปรกับที่ดินมีราคาสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เกษตรกรจำนวนมากนิยมขายที่ดินออกไปแลกกับความร่ำรวยระยะสั้น
ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ไม่มีใครรู้ทันและไม่ทันตั้งตัว
ความวิกฤตได้ย่างมาถึงในพุทธศักราช
๒๕๔๐ ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอ เพียงอีกครั้ง
เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่พสกนิกรที่กำลังสิ้นหวังและท้อแท้จากวิกฤต เศรษฐกิจ ซึ่งพระราชดำรัสดังกล่าวประดุจพรวิเศษที่ทำให้พสกนิกรมีกำลังใจในการฝ่าฝัน
วิกฤต
"...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ.
สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า
อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง. อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า
ทุกครอบครัว จะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง. อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ
จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร. บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ
ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก ..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ
ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย
สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐
พุทธศักราช
๒๕๔๑ และพุทธศักราช ๒๕๔๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งว่า
"...คนเราถ้าพอในความต้องการ
ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย.
ถ้าทุกประเทศมีความคิด -อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ- มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง
หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ
ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย
สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
ในครั้งนี้ประชาชนจำนวนมากตลอดจนองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่างน้อมนำแนวพระราช
ดำริอันทรงคุณค่ามาใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนท่ามกลางกระแส
โลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งจากภายนอกและภายใน เป็นผลให้ประเทศไทยและคนไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวมาได้
พร้อมกับมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างใหม่ให้เลือกเดินนั่นคือ "ความพอเพียงอย่างยั่งยืน" ในระดับรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้อัญเชิญแนวความคิด
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ควบคู่กับกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการ เป็นองค์รวมที่มี
"คน" เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ในการจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
๘ (พุทธศักราช ๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) และบรรจุไว้เป็นหลักการสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙
(พุทธศักราช ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙) จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ (พุทธศักราช ๒๕๕๐ - ๒๕๕๔)
แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสะท้อนถึงสาย
พระเนตรอันยาวไกล และทรงส่งสัญญาณเตือนตลอดมา แต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้คนไทยบางกลุ่มขาดความรอบคอบและการเฝ้า
ระวังที่ดี นำพาให้ประเทศต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจหลายครั้ง ถือเป็นประสบการณ์ของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศที่พึงน้อมนำแนวพระราชดำริ
เศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นวิถีการดำรงตน เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
อันเป็นผลดีทั้งต่อตนเองและประเทศชาติสืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น