วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน



การนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
                ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ถูกใช้เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งบรรจุอยู่ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า "สังคมสีเขียว" ด้วยหลักการดังกล่าว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 นี้จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท
แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญของไทย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (1) ความว่า: "บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง ของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ"
นายสุรเกียรติ เสถียรไทย ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ในการประชุมสุดยอด The Francophonie Ouagadougou ครั้งที่ 10 ที่ Burkina Faso ว่า ประเทศไทยได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับ "การพัฒนาแบบยั่งยืน" ในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านการเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และการแข่งขัน ซึ่งเป็นการสอดคล้องเป้าหมายแนวทางของนานาชาติในประชาคมโลก โดยยกตัวอย่างการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งเมื่อยึดหลักปรัชญาในการแก้ปัญหาสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ของไทยเติบโตได้ถึงร้อยละ 6.7
การนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในอีกหลายประเทศ
การประยุกต์นำหลักปรัชญาเพื่อนำพัฒนาประเทศในต่างประเทศนั้น ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ผ่านทางสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยมีหน้าที่ คอยประสานงานรับความช่วยเหลือทางวิชาการด้านต่าง ๆ จากต่างประเทศมาสู่ภาครัฐ แล้วถ่ายทอดต่อไปยังภาคประชาชน และยังส่งผ่านความรู้ที่มีไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้ถ่ายทอดมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต่างชาติก็สนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะพิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งแต่ละประเทศมีความต้องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต สภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศ โดยได้ให้ผู้แทนจากประเทศเหล่านี้ได้มาดูงานในหลายระดับ ทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย จนถึงระดับปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ
นอกจากนั้นอดิเทพ ภาณุพงศ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้กล่าวว่า ต่างชาติสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเนื่องจากมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎรของพระองค์ และทราบสาเหตุที่รัฐบาลไทยนำมาเป็นนโยบาย ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วก็ต้องการศึกษาเพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศอื่น
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวถึงผลสำเร็จอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงโดยองค์การสหประชาชาติ คือ "สหประชาชาติเห็นด้วยกับพระมหากษัตริย์ในเรื่องนี้ [เศรษฐกิจพอเพียง] โดยเริ่มใช้มาตรวัดคุณภาพชีวิตในการวัดความเจริญของแต่ละประเทศ แทนอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งกล่าวถึงแต่ความเจริญทางเศรษฐกิจเท่านั้น"
13 นักคิดระดับโลกเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และมีการนำเสนอบทความ บทสัมภาษณ์ เป็นการยื่นข้อเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โลก เช่น
  • ศ.ดร. วูล์ฟกัง ซัคส์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของเยอรมนี สนใจการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมาก และมองว่าน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกชาติในเวลานี้ ทั้งมีแนวคิดผลักดันเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่รู้จักในเยอรมนี
  • ศ.ดร. อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ. 1998 มองว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และใช้โอกาสให้พอเพียงกับชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงความไม่ต้องการ แต่ต้องรู้จักใช้ชีวิตให้ดีพอ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้และความร่ำรวย แต่ให้มองที่คุณค่าของชีวิตมนุษย์
  • นายจิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน ให้ทรรศนะว่า หากประเทศไทยกำหนดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวาระระดับชาติ และดำเนินตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง "ผมว่าประเทศไทยสามารถสร้างโลกใบใหม่จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชีวิตที่ยั่งยืน และสุดท้ายจะไม่หยุดเพียงแค่ในประเทศ แต่จะเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลก ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ไทยก็คือผู้นำ"

 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น